ที่มาของพระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน

Last updated: 21 ส.ค. 2562  |  1104 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ที่มาของพระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน

     ด้วยความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะช่วยให้พุทธศาสนิกชนชาวไทยได้เรียนรู้พระพุทธศาสนาจากพระไตรปิฎก หรือได้ศึกษาพระไตรปิฎกเพื่อที่จะได้เข้าถึงพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง ชัดเจน ทั้งเพื่อที่จะทำให้เห็นว่าพระไตรปิฎกเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถศึกษาเรียนรู้ได้ ทั้งจะได้รับประโยชน์จากพระไตรปิฎกมหาศาล อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ จึงได้คิดจัดทำ “พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน” ขึ้น โดยการย่อความจากพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลี ๔๕ เล่ม ให้เหลือเพียง ๕ เล่ม และพิมพ์เป็นลำดับมาดังนี้คือ

เล่ม ๑ พิมพ์เมื่อสิงหาคม ๒๕๐๑ 
เล่ม ๒ พิมพ์เมื่อมกราคม ๒๕๐๒
เล่ม ๓ พิมพ์เมื่อมิถุนายน ๒๕๐๒
เล่ม ๔ พิมพ์เมื่อตุลาคม ๒๕๐๒
เล่ม ๕ พิมพ์เมื่อเมษายน ๒๕๐๓
รวมเป็น ๕ เล่มชุด

    จากสถิติการพิมพ์แสดงว่า ท่านอาจารย์คงเริ่มลงมือเรียบเรียง “พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน” ราวเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ อันเป็นปีฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ กระทั่งถึง พ.ศ. ๒๕๐๓ จึงเรียบเรียงจบบริบูรณ์ ใช้เวลาเรียบเรียงประมาณปีเศษถึง พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้มีผู้มีกุศลจิตจัดพิมพ์รวมเป็นเล่มเดียวจบ แจกเป็นธรรมทาน นับเป็นการพิมพ์รวมเล่มครั้งแรก และต่อมาได้มอบให้มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์จัดพิมพ์รวมเล่มเผยแพร่ในราคาต่ำกว่าทุน วัตถุประสงค์และวิธีจัดทำ “พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน” นี้ท่านอาจารย์ได้กล่าวไว้ในคำนำในการพิมพ์ครั้งแรกแล้วจึงไม่ขอกล่าวซ้ำ

     เนื่องจากเป็นการย่อเนื้อความของพระไตรปิฎกบาลี ๔๕ เล่ม ให้เหลือเป็นหนังสือเล่มเดียว ฉะนั้น เนื้อความที่ซ้ำกันจึงตัดออก เนื้อความที่เป็นพลความหรือรายละเอียดปลีกย่อยก็ตัดออก คงไว้แต่เนื้อหาสาระที่เป็นใจความสำคัญ ด้วยเหตุนี้เนื้อหาของพระไตรปิฎกบางเล่มจึงย่อไว้เพียงสั้น ๆ เพราะเนื้อหาซ้ำกับเล่มอื่นที่ย่อไว้แล้ว ฉะนั้น “พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน” นี้ จึงเป็นเสมือนคู่มือสำหรับการศึกษาพระไตรปิฎกฉบับสมบูรณ์ คือมีเนื้อความเพียงพอที่จะให้รู้ว่าพระไตรปิฎกมีอะไรบ้างและเพียงพอที่จะนำไปใช้ประโยชน์หรือนำไปปฏิบัติ และถ้าประสงค์จะรู้รายละเอียดในบางเรื่องบางตอนมากไปกว่านี้ก็มีพื้นฐานเพียงพอที่จะไปอ่านหรือศึกษาพระไตรปิฎกฉบับสมบูรณ์ต่อไปได้

     และเนื่องจากในการจัดทำและจัดพิมพ์ออกเผยแพร่ครั้งแรกนั้น ท่านอาจารย์ทะยอยทำและทะยอยพิมพ์ออกทีละเล่มจนครบ ๕ เล่ม ฉะนั้น การจัดทำสารบาญก็ดี การจัดข้อความภายในแต่ละเล่มก็ดี จึงอาจลักลั่นกันอยู่บ้าง ทั้งในด้านการใช้ถ้อยคำและการตั้งชื่อหัวข้อ หัวเรื่อง เพราะไม่ได้ทำพร้อมกันทีเดียว ฉะนั้น ในวาระครบ ๑๐๐ ปีชาตกาลของอาจารยส์ชุพี ปญุญานภุาพ ในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ นี้ คณะทำงานมูลนิธิพระไตรปฎิกเพื่อประชาชน ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการตำราและวิชาการมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้ร่วมกันดำเนินการตรวจทานและจัดรูปเล่ม “พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน” ของอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ให้เรียบร้อยและสะดวกแก่การอ่านการค้นคว้ายิ่งขึ้น แล้วจัดพิมพ์ขึ้นใหม่ในลักษณะที่กระทัดรัดสวยงามสมแก่ความเป็นพระคัมภีร์สำคัญของพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นอนุสรณ์ในการนี้

     ในการพิมพ์ครั้งนี้ คณะทำงานได้ตรวจชำระเนื้อความ จัดสารบาญ ปรับหัวข้อ ถ้อยคำ หมายเลข ให้เป็นระบบเดียวกันตลอดเล่ม และจัดรูปเล่มให้สะดวกในการอ่านการ ค้นคว้ายิ่งขึ้น โดยคงเนื้อหาไว้ตามต้นฉบับเดิมทุกประการ ส่วนที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมในการจัดพิมพ์ครั้งนี้ คือ

๑. สารบาญได้จัดทำเป็น ๒ ส่วน คือ สารบาญสรุปเพื่อให้ผู้อ่านรู้เนื้อหาของหนังสือแบบกว้าง ๆ หรือในแบบภาพรวมก่อนแล้วจึงถึงสารบาญสมบูรณ์ สำหรับให้ผู้อ่านค้นหาเรื่องที่ต้องการอ่าน หรือเพื่อให้ผู้อ่านได้รู้รายละเอียดของเนื้อหาทั้งหมดที่มีอยู่ในหนังสือนี้

๒. ในเนื้อความย่อของพระไตรปิฎกบางเล่มที่ท่านอาจารย์ไม่ได้ใส่หัวเรื่องกำกับเนื้อความไว้ แต่ท่านใส่หัวเรื่องไว้ในสารบัญได้ยกเอาหัวเรื่องนั้น ๆ ในสารบาญไปใส่ไว้เหนือเนื้อความย่อนั้น ๆ ด้วยเพื่อให้สารบาญกับเนื้อความในเล่มตรงกัน

๓.  เนื้อความของพระไตรปิฎกบางเล่ม มีการจัดแบ่งเป็นวรรค ๆ แต่ในเนื้อความย่อ ท่านอาจารย์ไม่ได้ใส่ชื่อวรรคกำกับไว้ที่เนื้อความย่อแต่ใช้หมายเลขแทน จึงได้เพิ่มชื่อวรรคนั้น ๆ ไว้เหนือข้อความของวรรคนั้น ๆ และใส่ไว้ในสารบาญด้วยเพื่อความสะดวกในการค้นหาของผู้อ่าน

๔.  การใส่หมายเลขประจำหัวข้อหรือข้อความยังลักลั่นกันจึงได้ปรับใหม่ให้เป็นระบบเดียวกัน ตามลักษณะของหัวข้อใหญ่ หัวข้อรอง หัวข้อย่อย

๕.  เอกสารทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการชำระ การจารึก และการพิมพ์ระไตรปิฎกในประเทศไทย ซึ่งท่านอาจารย์คัดมาจากเอกสารเก่านั้นได้แก้ไขอักขรวิธีให้เป็นไปตามต้นฉบับเดิม พร้อมทั้งได้ถ่ายต้นฉบับพระสมุดคำประกาศเทวดาครั้งสังคายนายในรัชกาลที่ ๑ และนำเอกสารเกี่ยวกับพระไตรปิฎกในรัชกาลที่ ๗ คือ พระราชหัตถเลขาในรัชกาลที่ ๗ พร้อมคำแปลอารัมภกถาพระไตรปิฎกมาพิมพ์ไว้ด้วย เพื่อความสมบูรณ์ในทางประวัติ และเพื่อเป็นการอนุรักษ์ไว้ให้อนุชนได้เห็น

๖.  การอ้างอิงพระไตรปิฎก ท่านอาจารย์ใช้พระไตรปิฎกสยามรัฐ ฉบับพิมพ์ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๗ ซึ่งปัจจุบันหายาก ในการพิมพ์ครั้งนี้ได้แก้ไขให้เป็นพระไตรปิฎกสยามรัฐ ฉบับพิมพ์ล่าสุด คือ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๖ และในการอ้างอิง ท่านอาจารย์เขียนไว้เพียงย่อ ๆ คือ เล่ม/หน้า ในการพิมพ์ครั้งนี้ได้แก้ไขให้ครบถ้วนขึ้น คือใส่อักษรย่อชื่อคัมภีร์พร้อมด้วยเลขเล่ม เลขข้อ และเลขหน้า เช่น ที.ปา. ๑๑/๑๐๘/๑๓๙ (อ่านว่า ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๑๑ ข้อ ๑๐๘ หน้า ๑๓๙) ทั้งนี้เพื่อสะดวกแก่การสืบค้นของผู้ต้องการ

๗.  การอ้างอิงคัมภีร์อรรถกถา ท่านอาจารย์ใช้อรรถกถาฉบับพิมพ์ครั้งแรก ซึ่งปัจจุบันหายาก จึงได้แก้ไขเป็นอรรถกถาฉบับพิมพ์ที่มหามกุฏราชวิทยาลัย พิมพ์ล่าสุดคือเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๖

๘.  คำและข้อความที่เห็นว่าผู้อ่านทั่วไปอาจไม่คุ้นเคย หรืออาจเข้าใจยาก ในการพมิพ์ ครั้งนี้คณะทำงานได้ทำเชิงอรรถเพิ่มเติมขึ้นโดยใช้อักษรย่อ ม.พ.ป. หมายถึง “มลูนธิพิระไตรปฎิกเพื่อประชาชน” กำกับไว้เพื่อเป็นที่สังเกต พร้อมทั้งได้ปรับปรุงแผนภูมิ แผนผัง หัวข้อและเลขหน้าที่ใช้อ้างอิงภายในเล่มด้วย

๙.  บันทึกทางวิชาการ ๖ ฉบับของท่านอาจารย์นั้น ในคราวนี้ได้ใส่ชื่อสำหรับบันทึกทางวิชาการแต่ละฉบับไว้ด้วย เพื่อความสะดวกแก่ผู้อ่าน

๑๐. การพิมพ์ครั้งนี้ ได้เพิ่มภาพวาดเกี่ยวกับการสังคายนาครั้งสำคัญอันเนื่องกับความเป็นมาของพระไตรปิฎกไว้ด้วยรวม ๗ ภาพ การวาดภาพในครั้งนี้พระอาจารย์ธีระพันธุ์ ธีรโพธิ (ลอไพบูลย์) ผู้วาดได้พยายามศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับการสังคายนาครั้งนั้น ๆ เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ สิ่งของเครื่องใช้ สภาพแวดล้อม และธรรมเนียมประเพณีในยุคนั้น เพื่อประกอบจินตนาการในการสร้างสรรค์ภาพของการสังคายนาครั้งนั้น ๆ โดยได้เดินทางไป อินเดีย ลังกา และเชียงใหม่ เพื่อเก็บข้อมูลดังกล่าวมาประกอบ เพื่อให้คล้ายจริงมากที่สุด ดังที่ปรากฏ อนึ่ง เนื่องจากภาพที่วาดขึ้น วาดโดยศิลปินไทย ผู้วาดจึงจงใจใส่บรรยากาศแบบไทย ๆ ลงไว้ในภาพด้วย เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของยุคสมัย

๑๑. เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงท่านอาจารย์ในวาระครบ ๑๐๐ ปีชาตกาล ในการพิมพ์ครั้งนี้ ได้เพิ่มประวัติสังเขปของอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ผู้จัดทำ “พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน” เล่มนี้ขึ้นเป็นครั้งแรกในโลกไว้ด้วย ๑๒. เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ท่านผู้อ่านที่ต้องการค้นหาเรื่องต่าง ๆ ที่มีปรากฏอยู่ในหนังสือนี้ได้ง่ายยิ่งขึ้น การพิมพ์ครั้งนี้ ได้จัดทำสารบาญค้นคำ หรือดรรชนีค้นเรื่องให้ละเอียดขึ้นกว่าเดิมอีก ราว ๕ - ๖ เท่า

     อนึ่ง เพื่อประโยชน์สูงสุดในการอ่านการศึกษา “พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน” ใคร่ขอแนะนำท่านผู้อ่านว่า ควรอ่านบันทึกทางวิชาการ ๖ ฉบับของท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ซึ่งเป็นภาคที่ ๕ ของหนังสือนี้ก่อน แล้วจึงอ่านเนื้อหาของ “พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน” เพราะจะทำให้ท่านผู้อ่านทราบถึงวิธีการในการจัดทำจุดมุ่งหมายในการจัดทำและวิธีใช้พระไตรปิฎกเล่มนี้ ตลอดถึงประโยชน์ที่จะพึงได้จากการอ่านพระไตรปิฎกฉบับนี้ด้วย

     “พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน” นี้ นับเป็นพระไตรปิฎกย่อฉบับแรกของโลก เพราะการย่อความพระไตรปิฎกบาลี ๔๕ เล่ม ให้คงเหลือเป็นหนังสือเล่มเดียวดังที่ท่าน อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ได้จัดทำขึ้นนี้ไม่เคยมีใครจัดทำขึ้นมาก่อน จึงกล่าวได้ว่า “พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน” หรืออาจเรียกว่า พระไตรปิฎกย่อฉบับนี้ เปรียบเสมือนเพชรเม็ดเอกของวงการพระพุทธศาสนาในประเทศไทย และจะเป็นมรดกทางปัญญา มรดกทางพระพุทธศาสนา และมรดกทางวัฒนธรรมของไทยไปตลอดกาล

      ในการตรวจทานและจัดเรียบเรียงเนื้อหาของ “พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน” ขึ้นใหม่ในครั้งนี้ หากมีข้อบกพร่องประการใดในการจัดพิมพ์ คณะทำงานขอน้อมรับคำแนะนำจากท่านผู้อ่านด้วยความเคารพ เพื่อจักได้ปรับปรุงให้ถูกต้องครบถ้วนยิ่งขึ้นในการพิมพ์ครั้งต่อไป

      บุญกุศลและความดีใด ๆ จักพึงบังเกิดมีจากการจัดพิมพ์ “พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน” ในครั้งนี้ คณะทำงานขออุทิศเป็นเครื่องบูชาคุณแด่อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ด้วยความเคารพ และขอมอบเป็นพลังใจแก่ท่านผู้อ่านทุกท่าน เพื่อเป็นกำลังเกื้อหนุนให้ พระพุทธศาสนาแพร่หลายสถาพรสืบไป

มูลนิธิพระไตรปิฎกเพื่อประชาชน
๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๐

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้