วัดทองนพคุณ

Last updated: 7 ต.ค. 2562  |  1301 จำนวนผู้เข้าชม  | 

 วัดทองนพคุณ

รหัสวัด: ๐๑๑๐๑๘๐๒๐๐๒

ที่ตั้ง: เลขที่ ๑๐๓ ซอยสมเด็จเจ้าพระยา ๑๗ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา แขวงคลองสาน เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร
นิกาย: มหานิกาย
ประเภท: พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ        
พระประธาน - หลวงพ่อทอง พระประธาน ภายในอุโบสถ 
             - หลวงพ่อแสงเพชร พระประธรานภานในพระวิหาร
เนื้อที่: ๒๐ ไร่ ๓ งาน ๖๗ ตารางวา

ประวัติโดยสังเขป
วัดทองนพคุณ ชื่อวัดแปลว่า พระคุณ ๙ ประการ ของพระพุทธเจ้า ชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดทองล่าง สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลาง ตามอายุของคัมภีร์โบราณที่พบอยู่จำนวนมากในวัดทองนพคุณ และในปี พ.ศ. ๒๓๙๓ ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๓ พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ทองจีน ไกรฤกษ์) เป็นผู้บูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ และน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระอารามหลวง ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๒๐ กรมศิลปกรได้ประกาศขึ้นทะเบียนวัดทองนพคุณ เป็นโบราณสถานที่สำคัญแห่งชาติ ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๙๔ ตอนที่ ๗๕

๑๑ สิ่งสำคัญภายในวัดทองนพคุณ

๑. คัมภีร์ใบลานโบราณ
วัดทองนพคุณ มีคัมภีร์โบราณอยู่จำนวนมาก ซึ่งเป็นคัมภีร์เก่า ชื่อคัมภีร์ปาฏิกวัคคทีฆนิกาย เป็นคัมภีร์ใบลาน จารด้วยอักษรขอม อายุ ๓๙๔ ปี สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๑๖๖ ตรงกับรัชสมัยพระมหาธรรมิกราช (พระเจ้าทรงธรรม) แห่งกรุงศรีอยุธยา ดังนั้นจึงสันนิษฐานว่ายุคสมัยการสร้างวัดน่าจะอยู่ในสมัยอยุธยาตอนกลาง ตามอายุของคัมภีร์ที่พบ  

คัมภีร์ใบลานโบราณได้จัดเก็บไว้ภายในศาลาธรรมุเทศ ชั้น ๒ และได้จัดระบบคัมภีร์ใบลานตามหลักวิชาการเพื่อบริการด้านการศึกษาค้นคว้า รวม ๑,๙๐๐ เลขที่ จำนวน ๗๘๒ มัด หรือ ๑๓,๒๐๐ ผูก/รายการ


๒. ระฆัง
ระฆังตั้งอยู่ที่หน้าศาลาธรรมุเทศ มีข้อความจารึกไว้ ซึ่งเป็นหลักฐานบ่งบอกถึงการสถาปนาวัดขึ้นเป็นพระอารามหลวง ว่า “ระฆังใบนี้เมื่อพระพุทธศักราชล่วงได้ ๒๓๙๓ พระวษา เสดสังขยา เดือน ๒ เดือน กับ ๑ วัน ปัจจุบันปีจอ โทษก คิมหันตรดู เดือนแปด ปัถมาสาด วัน ๖ แรมสิบค่ำ อายุ วัณโณ สุขัง พลัง” ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๓

๓. พระอุโบสถ
พระอุโบสถมีประวัติความเป็นมายาวนาน เดิมเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนแบบเก๋งจีน ตามความนิยมในสมัยรัชกาลที่ ๓ ต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้ทำการบรูณะใหม่โดยเปลี่ยนเป็นหลังคามุงกระเบื้องทรงไทย ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และเปลี่ยนเป็นซุ้มประตูกำแพงแก้ว หลังคาเก๋งด้านตะวันออกมาเป็นยอดปรางค์ ซุ้มประตูมีช่อฟ้าและบารลี ส่วนประตูทางเข้ามี ๓ ประตู ประตูช่องกลางทำเป็นมงกุฎยอดพิชัย คือเลียนแบบ พระมหาพิชัยมงกุฎ ซึ่งไม่เคยปรกฎที่ใดมาก่อน และประตู ทั้ง ๒ ข้าง ทำเป็นทรงปราสาทเรียกว่า “ซุ้มยอดปราสาท”

ซุ้มหน้าต่างของพระอุโบสถมี ๑๐ ช่อง ด้านละ ๕ ช่อง เป็นรูปทรงพัดยศชั้นพระครูสํญญาบัตร และระดับพระราชาคณะ (เจ้าคุณ) ส่วนหน้าต่างบางที่อยู่ตรงกลางทั้งสองด้านทำเป็นซุ้มมงกุฎ อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของวัดทองนพคุณหนึ่งเดียวในประเทศไทย

๔. พระวิหาร
เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงไทย ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ทรงแบบราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ ๓ โดยหน้าบันประดับด้วยเครื่องถ้วย กระเบื้องลายครามแบบจีน กรอบประตูและหน้าต่างประดับด้วยปูนปั้นลายดอกไม้และใบไม้ ที่เรียกว่า “ลายแบบนอกอย่าง” หรือ “ลายอย่างเทศ” เพดาน ประตู และหน้าต่าง เป็นลายฉลุทองและสี

๕. พระประธารประจำพระอุโบสถ
พระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ชาวบ้านนิยมเรียก “หลวงพ่อทอง” สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓

๖. พระประธานประจำพระวิหาร
พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำวัด นามว่า “หลวงพ่อแสงเพชร” สร้างจากไม้สักทองแกะสลักปิดทองแท้ ปางมารวิชัย สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น รูปทรงและพระพักตร์คล้ายกับพระพุทธโสธร เดิมหลวงพ่อแสงเพชรประดิษฐานอยู่ในกุฏิสงฆ์ คณะ ๑๒ วัดทองนพคุณ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระประธานประจำพระวิหาร

๗. พระเจดีย์องค์ใหญ่
ตั้งอยู่ระหว่างพระอุโบสถ กับพระวิหาร เป็นเจดีย์ทรงเครื่อง ประกอบด้วย ส่วนฐาน ส่วนองค์ระฆัง และส่วนยอด ทั้งหมดอยู่ในผังย่อมุมไม้สิบสอง

๘. จิตกรรม
อยู่ที่ผนังด้านในพระอุโบสถทั้ง ๔ ด้าน เป็นภาพจิตรกรรม ซึ่งเขียนโดย พระครูกสินสังวร (มี) เจ้าอาวาส รูปที่๒ ของวัดทองนพคุณ ท่านเป็นศิษย์ของขรัวอินโข่ง  พระภิกษุที่เป็นจิตรกรเอกแห่งวัดราชบุรณะ สมัยรัชกาลที่ ๔ รูปแบบที่เขียนเป็นภาพเรื่อง พระไตรปิฎก ปริศนาธรรม ผ้าม่าน เทพชุมนุม พระอินทร์ กิจวัตรของพระภิกษุ และเวสสันดรชาดก

๙. มณฑปพระพุทธบาทจำลอง
เป็นที่ประดิษฐานของ “พระพุทธบาทจำลอง” มีลักษณะเป็นรอยพระพุทธบาทแบบ ๔ รอย ซ้อนเหลี่ยมก้าน ทำจากโลหะ สร้างโดยพระอาจารย์ฤกษ์ หรือหลวงปู่เลิก พระกรรมฐานผู้มีชื่อเสียงด้านวิปัสสนาแห่งวัดทองนพคุณ เนื่องจากความยากลำบากในการเดินทางไกลไปนมัสการพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรี จึงสร้างมณฑปพระพุทธบาทจำลอง เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้นมัสการ

๑๐. สำเภาจีน
เป็นเรือสำเภาจำลองก่ออิฐถือปูน ตั้งอยู่ด้านหน้าของพระอุโบสถ นอกเขตกำแพงแก้ว สร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งกตัญญูกตเวทิตาธรรม ของชุมชนชาวจีนบริเวณรอบวัดทองนพคุณ 

๑๑. ประติมากรรมภาพชุดพุทธประวัติ
เป็นงานประติมากรรมนูนสูง ปิดทองและระบายสีภาพทั้งหมด มีด้วยกัน ๙๐ ชิ้น  งานศิลปะพุทธประวัติของวัดทองนพคุณถือเป็นงานประติมากรรมเล่าเรื่องพุทธประวัติที่ละเอียดมากที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในศาลาธรรมุเทศ ชั้น ๒ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๖

 

ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ ๗๕ ปี พระธรรมเจดีย์ (สมคิด เขมจารี ป.ธ.๙) เจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ
เรียบเรียงโดย เจ้าหน้าที่มูลนิธิพระไตรปิฎกเพื่อประชาชน

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้